การปลูกเผือก
การปลูกเผือก พืชหัวที่หลายคนอาจมองข้าม แต่ขอบอกเลยว่ารายได้งามหลาย ถ้าอยากรู้ อย่ารอช้า ตามไปดู การปลูกเผือก กันเลย
เผือก เป็นพืชที่ขึ้นได้ทั้งในดินที่มีความชุ่มชื้นสูง ที่ลุ่ม และที่ดอน จึงนิยมปลูกเผือกในพื้นที่ดังกล่าว และในที่ลุ่มยังสามารถปลูกเผือกได้ทั้งในน้ำเหมือนปลูกข้าว กับบนดินที่ชื้นแต่ต้องไม่มีน้ำขัง สำหรับการปลูกเผือกในที่ลุ่มริมแม่น้ำจะนิยมปลูกเผือกประมาณเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ส่วนการปลูกเผือกในที่ราบน้ำไม่ท่วมและไม่มีการให้น้ำชลประทาน เป็นการปลูกเผือกโดยอาศัยน้ำฝน การปลูกเผือกแบบนี้มักปลูกประมาณเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน หรือช่วงฤดูฝนนั่นเอง
วิธีชำพันธุ์เผือก
พันธุ์เผือกมาแล้ว ชาวบ้านจะเรียกว่าลูกเผือก หรือ ลูกซอ จะนำมาวางเป็นแถว ๆ ในที่ร่ม บนดินที่เปียกชุ่มและเอาฟางปิดคลุมรดน้ำให้ชุ่มทุกวันประมาณ 5 – 6 วัน ลูกเผือกจะค่อย ๆ ผลิหน่อแล้วเติบโตเป็นต้นอ่อน สูงประมาณ 10 – 12 ซม. หลังจากนั้นก็ย้ายไปปลูกได้ หากลูกเผือกแตกหน่อหลายหน่อ เมื่อนำไปปลูกควรเด็ดให้เหลือเพียงหน่อเดียว
ขั้นตอนในการเตรียมดินแปลงปลูกเผือก
ไถ พรวน เก็บหญ้าออกให้หมด แล้วยกร่องทำแปลงปลูกกว้างประมาณ 5 เมตร แต่ละร่องอยู่ห่างกันประมาณ 1 เมตร ถึง 1 ½ เมตร เพื่อให้เป็นทางระบายน้ำยามฝนตก น้ำจะได้ไม่ขังในร่องดิน เสร็จแล้วขุดหลุมปลูก โดยแต่ละหลุมมีความกว้าง 50 เซนติเมตรโดยประมาณ
วิธีการปลูกเผือกและการเก็บเกี่ยวเผือก
ถอนต้นอ่อนที่ชำไว้ ปลูกลงในหลุมให้ต้นอ่อนตั้งตรง กลบดินเพียงเล็กน้อยพอมิดหัวเผือก การปลูกควรทำในตอนเย็น หลังจากปลูกช่วงแรกๆ ต้องหมั่นรดน้ำเช้าเย็นให้ดินชุ่มอยู่เสมอ เมื่อเผือกตั้งตัวได้ก็เว้นระยะรดน้ำให้ห่างออกไป การรดน้ำอาจใช้เครื่องสูบน้ำช่วยทุ่นแรง และสายยางที่ต่อจากเครื่องสูบ ตรงปลายใช้ฝักบัวสวมไว้ น้ำจะพุ่งออกเป็นฝอย ทำให้สะดวกในการให้น้ำแก่ต้นเผือก
หลังจาก ต้นเผือกฟื้นตัวแล้ว ไม่นานจะแตกหน่อขึ้นเป็นกอ ควรตอนหรือใช้เสียมคมๆ ปาดหน่อที่แตกออกทิ้ง เหลือต้นเผือกไว้เพียงต้นเดียว เพราะถ้าปล่อยให้แตกเป็นกอใหญ่จะได้เผือกที่มีหัวเล็ก ขายไม่ได้ราคา
เมื่อเผือกอายุได้ประมาณ 4 – 5 เดือน จะเริ่มมีหัวและโตขึ้นเรื่อยๆ ระยะนี้ควรจอบพูนดิน คลุมโคน เผือก เนื่องจากการคลุมโคนจะทำให้เผือกมีหัวป้อมใหญ่ และมีน้ำหนักดี ขายได้ราคางาม
ส่วนอายุที่เหมาะสมสำหรับการเก็บหัวเผือก ทั่วๆไปจะมีอายุการเก็บหลังการปลูกอยู่ที่ 6 – 10 เดือนโดยระยะการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมอาจสังเกตได้จาก เมื่อใบเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเหี่ยว ทั้งนี้ การเก็บหัวเผือก ควรใช้วิธีถอนทั้งต้นด้วยมือ อาจใช้เสียบ / จอบช่วยในการถอน และควรหลีกเลี่ยงการขุดในระยะที่ไม่มีฝนตก
หลังจากที่ถอนต้นขึ้นมาแล้ว ควรจะใช้มีดตัดราก และโคนใบออก ให้เหลือเพียงหัวเผือก และนำไปล้างน้ำให้สะอาด
หากใครที่ต้องการเก็บไว้รับประทานหรือเก็บไว้ปลูก (ลูกเผือก) สามารถเก็บในที่ร่มได้นาน 4 – 6 เดือน แต่หากเก็บในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นานถึง 6-8 เดือนเลยทีเดียว
อีสานร้อยแปดแนะนำ แน่นอนว่าพืชทุกชนิดย่อมมีศัตรูตัวฉกาจ คอยบ่อนทำลายอยู่เสมอ สำหรับเผือกนั้น ศัตรูที่สำคัญเลยก็คือ เพลี้ยอ่อน ที่มักกัดกินใบเผือก สามารถป้องกันได้โดยใช้ยาไดเมทโธเอท ไดเมครอน หรือมาลาไธออน ประมาณ 2-4 ช้อน / น้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นใบให้ทั่ว
หนอนกัดกินใบ ควรใช้ยาเซฟวิน 85 หรือ มาลาไธออน อย่างใดอย่างหนึ่งประมาณ 2 ถึง 4 ช้อนสังกะสี / น้ำ 1 ปี๊บ หรือ โรคหัวเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อราเข้าทำลายหัวเผือก ให้ใช้ยาเธอราคลอ หรือ ไดโพลาแทนในอัตราส่วน 1 – 2 ช้อนสังกะสี / น้ำ 1 ปี๊บ หยอดโคนต้น เพื่อกำจัดเชื้อราและป้องกันการลุกลามของโรค
ขอขอบคุณข้อมูล
การปลูกเผือก กรมส่งเสริมการเกษตร
www.eto.ku.ac.th/neweto/ebook/plant/herb_gar/pukperk.pdf
matichon.co.th/news/402
puechkaset.com
technologychaoban.com
-----------------------------------------------
บทความดีมีประโยชน์ ภาพสวยถูกใจ กดแชร์ เพื่อส่งต่อให้เพื่อนๆ เป็นการแบ่งปันความรู้ให้ผู้อื่นต่อไปนะค่ะ ชีวิตเราดี
ชีวิตผู้อื่นดี แค่นี้ก็ได้บุญ :)
ฝากติดตามเป็นกำลังใจ กดไลค์ กดแชร์ ให้แอดมินด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ :)
______________________
ติดตามอัพเดทข้อมูลข่าวสารทางการเกษตร และเคล็ดลับดูแลสุขภาพดีๆ ที่ ช่องทางต่อไปนี้ค่ะ
ฝากกดไลค์ กดติดตาม Facebook [คลิกที่] >> https://www.facebook.com/raikruyakthailand/
Line@ID [คลิกที่] >> @kruyakorganicfarm (มี @ ด้วยนะคะ)