top of page

สรรพคุณและประโยชน์ของขลู่

ลักษณะของต้นขลู่
  • ต้นขลู่ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ขึ้นเป็นกอ ๆ แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นความสูงประมาณ 0.5-2 เมตร ลำต้นกลม เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลแดงหรือเขียว ที่ลำต้นและกิ่งก้านมีขนละเอียดขึ้นปกคลุม โดยเป็นพรรณไม้ที่ชอบดินเค็มมีน้ำขังตามหนองน้ำ มักขึ้นตามที่ลุ่มชื้นแฉะ ตามริมห้วยหนอง หรือตามหาดทราย ด้านหลังป่าชายเลน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และวิธีการปักชำ ด้วยการตัดลำต้นชำลงดิน แล้วรดน้ำให้ชุ่ม สามารถปลูกขึ้นได้ง่ายและไม่ต้องการการดูแลรักษาแต่อย่างใด

  • ใบขลู่ ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ใบมีขนาดเล็กและมีกลิ่นฉุน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรี ปลายใบแหลมหรือมีติ่งสั้น ๆ ปลายใบมีขนาดใหญ่กว่าโคนใบ โคนใบสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันและแหลม โดยรอบมีขนขาว ๆ ขึ้นปกคลุม ใบมีความกว้างประมาณ 1.5-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-9 เซนติเมตร เนื้อใบมีลักษณะบางคล้ายกระดาษ ใบค่อนข้างแข็งและเปราะ หลังใบและท้องใบเรียบเป็นมัน ค่อนข้างเกลี้ยง และไม่มีก้านใบหรือมีก้านใบสั้นมาก

  • ดอกขลู่ ออกดอกเป็นช่อฝอยสีขาวนวลหรือสีม่วง โดยจะออกตามปลายยอดหรือตามง่ามใบ ดอกมีลักษณะกลมหลายช่อมารวมกัน ดอกมีลักษณะเป็นฝอยสีขาวนวลหรือสีขาวอมม่วง กลีบของดอกแบ่งออกเป็นวงนอกและวงใน โดยกลีบดอกวงนอกจะสั้นกว่ากลีบดอกวงใน ดอกวงนอกกลีบดอกจะยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร ส่วนดอกวงในกลีบดอกจะมีลักษณะเป็นรูปท่อยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ปลายจักเป็นซี่ฟันประมาณ 5-6 ซี่ ภายในมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียสีขาวอมม่วงขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก ปลายกลีบดอกหยักเป็นซี่ฟัน 5-6 หยัก ส่วนอับเรณูตรงโคนจะมีลักษณะเป็นรูปหัวลูกศรสั้น ๆ และท่อเกสรเพศเมียจะมีแฉก 2 แฉกสั้น ๆ ก้านช่อดอกมีความยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ส่วนดอกย่อยไม่มีก้านดอก ริ้วประดับมีลักษณะแข็งและเป็นสีเขียว เรียงกันประมาณ 6-7 วง วงด้านนอกนั้นจะมีลักษณะเป็นรูปไข่ ส่วนวงด้านในจะมีลักษณะคล้ายรูปหอกแคบและตรงปลายจะแหลม

  • ผลขลู่ ผลเป็นผลแห้งไม่แตก มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร ผลมีสันหรือเหลี่ยม 10 สัน มีรยางค์ไม่มาก สีขาว ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร แผ่กว้าง ส่วนเมล็ดขลู่จะมีลักษณะเป็นฝอยเล็ก ๆ เมื่อแก่จะปลิวไปตามลม

สรรพคุณของขลู่
  1. ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (ใบสดแก่, เปลือก ใบ เมล็ด)

  2. ใบนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยบำรุงประสาท (ใบ)

  3. ทั้งต้นนำมาต้มกินเป็นยารักษาโรคเบาหวาน (ทั้งต้น)ส่วนใบก็ใช้ชงดื่มเป็นน้ำชาก็มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเบาหวานได้เช่นกัน (ใบ)

  4. ใบใช้ชงดื่มแทนน้ำเป็นชา มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิต (ใบ)

  5. ใบสดแก่และรากใช้เป็นยาแก้กระษัย (ราก, ใบสดแก่, ทั้งต้น, เปลือก ใบ เมล็ด)

  6. ช่วยรักษาโรคตานขโมย (ทั้งต้น)

  7. ช่วยแก้ตานซางในเด็ก เข้าใจว่าใช้ใบชงดื่มแทนน้ำชา (ใบ)

  8. ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรควัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง (ทั้งต้น)

  9. ขลู่ใช้ปรุงเป็นยาต้มรับประทานแก้โรคเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)

  10. ช่วยรักษาเลือดลม (ใบและต้นอ่อน, ทั้งต้น)

  11. ช่วยรักษาไข้ (ใบและราก, ใบสดแก่)

  12. ช่วยขับเหงื่อ (ใบและราก, ใบสดแก่) บ้างว่าช่วยล้างพิษได้ด้วย

  13. ช่วยรักษาริดสีดวงจมูก ด้วยการขูดเอาแต่ผิวของต้นนำมาขูดขนออกให้สะอาด ทำเป็นเส้นตากแห้ง แล้วมวนเป็นยาสูบรักษาริดสีดวงจมูก (ผิวต้นหรือเปลือกต้นทั้งต้น, เปลือกต้น ใบ เมล็ด)

  14. เปลือกต้นนำมาสับเป็นชิ้น ๆ ใช้มวนบุหรี่สูบช่วยแก้โพรงจมูกอักเสบหรือไซนัสได้ (เปลือกต้น)

  15. ทั้งต้นสดหรือต้นแห้งใช้เป็นยาช่วยย่อย (ทั้งต้น)

  16. น้ำคั้นจากใบช่วยรักษาโรคบิด (ใบ ใบและราก)

  17. ดอกมีรสหอมฝาดเมาเค็ม ช่วยแก้นิ่ว (ดอก) ทั้งต้นมีรสฝาดเค็ม มีสรรพคุณแก้นิ่วได้เช่นกัน (ทั้งต้น)ส่วนใบและรากมีรสหอมฝาดเมาเค็ม มีสรรพคุณขับนิ่วได้เช่นกัน (ใบ,ราก)

  18. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาก่อนอาหารครั้งละ 75 มิลลิลิตร (ประมาณ 1 ถ้วยชา) วันละ 3 ครั้ง จะช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการได้ รักษาอาการขัดเบา (ทั้งต้น)ส่วนใบก็เป็นยาขับปัสสาวะด้วยเช่นกัน (ใบ)ซึ่งจากการทดลองในสัตว์และคนปกติ พบว่ายาชงที่ได้จากต้นขลู่จะมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะได้ดีกว่ายาขับปัสสาวะแผนปัจจุบัน (Hydrochlorothiazide) และยังมีข้อดีก็คือ มีการสูญเสียเกลือแร่ในร่างกายน้อยกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน

  19. ทั้งต้นมีรสหอมฝาดเมาเค็ม ช่วยแก้นิ่วในไต (ทั้งต้น)

  20. ทั้งต้นช่วยรักษาริดสีดวงทวาร หรือจะใช้เปลือกต้นด้วยการขูดเอาขนออกให้สะอาดแล้วลอกเอาแต่เปลือก นำมาต้มรมริดสีดวงทวารหนัก หรือจะใช้ใบสดเอามาตำบีบคั้นเอาแต่น้ำแล้วนำมาทาตรงหัวของริดสีดวงทวาร จะช่วยทำให้หัวริดสีดวงทวารหดหายไปได้ (ทั้งต้น น้ำคั้นจากใบ เปลือก ใบ เมล็ด)

  21. ช่วยแก้มุตกิดระดูขาวของสตรี ด้วยการใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นชา (ใบทั้งต้น)

  22. ใบใช้ต้มกับน้ำอาบเป็นยาบีบมดลูก (ใบ)

  23. ใบใช้ชงดื่มเป็นชา ช่วยลดอาการบวมน้ำได้ (ใบ)

  24. ใบและรากใช้เป็นยาฝาดสมาน (ใบและราก)

  25. ใบสดแก่ใช้เป็นสมานทั้งภายนอกและภายใน (ใบสดแก่)

  26. ใบและรากสดใช้ตำพอกแก้แผลอักเสบ (ใบและราก ใบ)

  27. ใบและรากใช้ทำเป็นขี้ผึ้งสำหรับทารักษาแผลเรื้อรัง แต่ไม่แน่ใจว่าต้องผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกหรือไม่ (ใบและราก)

  28. ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำอาบช่วยแก้ผื่นคันและรักษาโรคผิวหนัง (ทั้งต้น)]ส่วนใบก็นำมาต้มกับน้ำอาบแก้ผื่นคันได้เช่นกัน (ใบ)

  29. ใบและต้นอ่อนช่วยรักษาประดง (โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการคัน) (ใบและต้นอ่อน) หรือจะใช้ทั้งต้นก็ช่วยรักษาประดงได้เช่นกัน (ทั้งต้น)

  30. ใบและต้นอ่อนนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยรักษาหิด และขี้เรื้อน (ใบและต้นอ่อน)

  31. ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย ด้วยการใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นชา (ใบ)

  32. ใบและต้นอ่อนใช้ตำผสมกับแอลกอฮอล์ นำมาใช้ทาหลังบริเวณเหนือไตจะช่วยบรรเทาอาการปวดเอวได้ (ใบและต้นอ่อน)

  33. ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อ อาการปวดในโรคไขข้ออักเสบ (ใบและต้นอ่อน)

  34. ใบและรากใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ นำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยรักษาอาการเส้นตึง (ใบและราก)

  35. ในปัจจุบันการแพทย์แผนไทยได้มีการทดลองใบขลู่ (จำนวนตามต้องการหรือพอประมาณ) นำมาต้มให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ในระยะเริ่มแรกหรือเพิ่งตรวจพบกิน จะช่วยดูแลสุขภาพได้ในระดับหนึ่ง (ใบ)

ขนาดและวิธีใช้ : ยาแห้งให้ใช้ประมาณ 15-20 กรัม หากเป็นต้นสดให้ใช้ประมาณ 30-40 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ร่วมกับตัวยาหรือสมุนไพรอื่น ๆ ในตำรับยา

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของขลู่
  • จากการทดลองในสัตว์ โดยใช้ต้นขลู่แห้ง 10 กรัม เติมด้วย 200 cc. ต้มให้เดือนแล้วรินเอาน้ำออก แล้วนำไปให้หนูขาวทดลองกิน พบว่ายาต้มที่ได้จากต้นขลู่จะมีฤทธิ์ทำให้ขับปัสสาวะได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับยาขับปัสสาวะแผนปัจจุบัน (Hydrochlorothiazide) ปรากฏว่า สามารถขับปัสสาวะได้ดีกว่าและสูญเสียเกลือแร่ในร่างกายน้อยกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน

  • จากการศึกษาทดลองทางพิษวิทยาพบว่า ในน้ำยาขลู่ไม่มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่อหนูขาวที่นำมาทดลอง

  • ในใบขลู่พบมีสาร 3-(2,3-diacetoxy-2-methyl butyryl) cuauhtemone[6] ใบขลู่ประกอบไปด้วยสารประเภทเกลือแร่ เช่น โซเดียมคลอไรด์ สารโพแทสเซียม และยังประกอบไปด้วย catechin, stigmasterol (+ beta-sitosterol), stigmasterol glucoside (+ beta-sitosterol glucoside)

  • Sen T. และคณะ (1991) ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดจากรากขลู่ พบว่าสารสกัดจากรากสามารถช่วยต้านการอักเสบได้ โดยสามารถช่วยยับยั้งอาการบวมของอุ้งเท้าหนูที่เกิดจากการฉีด carragenin, histamine, serotonin, hyaluronidase และ sodium urate ซึ่งสารสกัดดังกล่าวจะไปยับยั้งกระบวนการที่โปรตีนลอดออกจากหลอดเลือดและการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวไปยังบริเวณที่อักเสบ[9]

  • Sen T. และคณะ (1993) ได้ทำการศึกษากลไกของการต้านการอักเสบและการต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของสารสกัดจากรากขลู่ ที่คาดว่ามีกลไกเกี่ยวข้องกับ 5-lipoxygenase pathway ซึ่งเป็นกระบวนการสังเคราะห์โพรสตาแกลนดิน ( prostaglandin) และผลจากการศึกษาก็พบว่าสารสกัดจากรากขลู่สามารถช่วยต้านการอักเสบที่เกิดจาก arachidonic acid, platelet activation factor และสารประกอบ 48/80 ซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดการบวมที่อุ้งเท้าของสัตว์ได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยยับยั้งสารประกอบ 48/80 เหนี่ยวนำให้เกิดการหลั่งสารฮิสตามีน (Histamine) จาก Mast cell ได้อย่างมีนัยสำคัญ สำหรับผลต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารนั้นพบว่า สารสกัดจากรากสามารถช่วยป้องกันการเกิดแผลจากเหล้าและยา indomethacin ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยสามารถช่วยลดปริมาณและความเป็นกรดของกระเพาะอาหารลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

  • Sen T. และคณะ (1993) ได้ทำการศึกษาฤทธิ์การปกป้องตับของสารสกัดจากขลู่ ในหนูทดลองที่ตับบาดเจ็บเฉียบพลัน (เกิดจากการเหนี่ยวนำสารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ : CCl4) โดยพบว่าสามารถช่วยลดระดับของเอนไซม์ aspartate amino tranferase (AST), alanine amino tranferase (ALT), lactate dehydrogenase (LDH), serum alkaline phosphatase (ALP) และ bilirubin ได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดจากขลู่สามารถช่วยลดระยะเวลาการนอนหลับของหนูที่ได้รับสาร pentobarbitone ได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังช่วยลด plasma prothrombin time ได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ CCl4

  • Sen T. และคณะ (1996) ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากขลู่ในการยับยั้งปัจจัยกระตุ้นเกล็ดเลือดและยับยั้งการเกิดกระเพาะอาหารเสียหาย ซึ่งจากการทดลองพบว่าสารสกัดจากขลู่สามารถช่วยยับยั้งการอักเสบและลดอุบัติการณ์การเกิดกับทางเดินอาหารส่วนล่างเสียหายได้อย่างมีนัยสำคัญ

  • Thongpraditchote S. และคณะ (1996) ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากรากขลู่ต่อระบบประสาทของหนูทดลอง โดยพบว่าหนูที่ได้รับ (โดยการกิน) PI-E ในขนาด 50-100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จะมีการทำงานของระบบประสาทควบคุมการเคลื่อนที่จะทำงานเพิ่มขึ้น และช่วยลดระยะเวลาการนอนหลับของหนูที่ได้ pentobarbital ให้สั้นลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดที่ได้รับ นอกจากนี้ยังพบว่าฤทธิ์ของ PI-E ที่ให้ในหนูที่ได้รับ pentobarbital จะลดลงเมื่อได้รับ flumazenil ทางหลอดเลือดดำ (1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) อย่างมีนัยสำคัญ และ PI-E ในขนาด 50 – 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ diazepam ในขนาด 0.5-5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สามารถลดพฤติกรรมความก้าวร้าวได้ตามขนาดที่ได้รับ โดยกลไกการออกฤทธิ์ของ PI-E จะเกี่ยวข้องกับระบบ GABA system ในสมอง แต่อย่างไรก็ตาม PI-E จะไม่มีฤทธิ์ระงับการชักที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของ pentyleneterazole

  • Muangman V และคณะ (1998) ได้ทำการศึกษาการให้สารสกัดผงแห้งจากขลู่ (สารสกัด 3.6 กรัม บรรจุในแคปซูล 12 แคปซูล) เพียงครั้งเดียว แก่อาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 15 คน และอีกกลุ่มคือผู้ป่วยที่ได้จากการสุ่มอีกจำนวน 30 คน (โดยอาจจะเป็นนิ่วที่ไตด้วยหรือไม่เป็นก็ได้) ที่ได้รับยาขับปัสสาวะ (Hydrochlorothiazide 50 มิลลิกรัม) เพื่อใช้เป็นกลุ่มควบคุมและเปรียบเทียบ และวัดปริมาณของปัสสาวะที่ 6 ชั่วโมง ผลการทดลองพบว่าอาสาสมัครที่สุขภาพดีจำนวน 53% และกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการสุ่ม 23% มีการตอบสนองต่อฤทธิ์การขับปัสสาวะของขลู่ ส่วนจำนวนผู้ที่มีการตอบสนองต่อยาขับปัสสาวะ HCT ในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีคิดเป็น 87% และในผู้ป่วยคิดเป็น 67% ซึ่งจากการทดลองสามารถสรุปได้ว่า จำนวนผู้ตอบสนองต่อสารสกัดจากขลู่นั้นมีน้อยกว่ากลุ่มที่รับยาขับปัสสาวะ HCT

  • Sen T. และคณะ (2002) ได้ทำการศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากรากขลู่ในหลอดทดลองและในสัตว์ โดยใช้คาร์บอนเตตระคลอไรด์เหนี่ยวนำให้เกิดกระบวนการสลายไขมัน และการเปลี่ยนแปลง arachidonic acid จากเอนไซม์ lipoxygenase ซึ่งผลการศึกษาพบว่าสารสกัดจากรากสามารถช่วยลดการอักเสบและการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงได้อย่างมีนัยสำคัญ และยังพบด้วยว่าสารดังกล่าวสามารถช่วยกำจัดอนุมูลอิสระได้มากกว่า B755c และ phenidone ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ได้อย่างมีนัยสำคัญ

  • Biswas R. และคณะ (2005) ได้ทำการสกัดและประเมินสารประกอบที่พบในขลู่และความแรงในการต้านเชื้อจุลชีพ พบว่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ของสารสกัดต่อเชื้อ Staphylococcus aureus ML 11, Staphylococcus aureus ML 358, Staphylococcus aureus NCTC 6571, Staphylococcus aureus 8530, Salmonella trphi 59, Salmonella typhimurium NCTC 74, Shigella boydii 8 NCTC 254/66, Shigella dysenteriae 7 NCTC 519/66, Vibrio cholerae 214, Vibrio cholerae 14033, Bacillus lichenniformis, Escherichia coli ATCC 25938, Klebsiella pneumoniae 725, Klebsiella pneumoniae 10031 และเชื้อ Pseudomonas aeruginosa 71 คือขนาด 1500 , 2000, > 2000, 1000, 1500, 1500, 1500, 1500, 1000, 1500, > 2000, 1500, > 2000, 2000 และ 2000 นาโนกรัม/มิลลิลิตร

ประโยชน์ของขลู่
  • ยอดอ่อนมีรสมัน ใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก ลาบ หรือเครื่องเคียงขนมจีน ส่วนใบอ่อนนำไปลวกใช้รับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือใส่ในแกงคั่ว ส่วนดอกนำไปยำร่วมกับเนื้อสัตว์ต่าง ๆ

  • ใบเมื่อนำมาผึ่งให้แห้งจะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นน้ำผึ้ง นำมาใช้ต้มกับน้ำดื่มหรือชงแทนชาจะช่วยลดน้ำหนักได้ (ใบ)

  • ใบสดแก่นำมาตำผสมกับเกลือใช้กินรักษากลิ่นปากและช่วยระงับกลิ่นตัว (ใบ)

คุณค่าทางโภชนาการของยอดและใบอ่อนขลู่ ต่อ 100 กรัม
  • พลังงาน 42 แคลอรี

  • คาร์โบไฮเดรต 9.4 กรัม

  • โปรตีน 1.8 กรัม

  • ไขมัน 0.5 กรัม

  • น้ำ 86.0 กรัม

  • วิตามินเอ 3,983 หน่วยสากล

  • วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม

  • วิตามินซี 30 มิลลิกรัม

  • ธาตุแคลเซียม 256 มิลลิกรัม

  • ธาตุเหล็ก 5.6 มิลลิกรัม

  • ธาตุฟอสฟอรัส 49 มิลลิกรัม

แหล่งที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม.[10]

เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ขลู่”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 93-94.

  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ขลู่ (Khlu)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 59.

  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “ขลู่ Indian Marsh Fleabane”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 168.

  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ขลู่”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 120.

  5. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ขลู่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [12 ก.พ. 2014].

  6. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ขลู่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [12 ก.พ. 2014].

  7. โรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก. “ขลู่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.lrp.ac.th. [12 ก.พ. 2014].

  8. “ขลู่สมุนไพรดีริมทาง”. (จำรัส เซ็นนิล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net. [12 ก.พ. 2014].

  9. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ขลู่”. อ้างอิงใน: หนังสือยาสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน (มาโนช วามานนท์, เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ), หนังสือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย (สมพร ภูติยานันต์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [12 ก.พ. 2014].

  10. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ขลู่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [12 ก.พ. 2014].

__________________________________

บทความดีมีประโยชน์ ภาพสวยถูกใจ

กดแชร์ เพื่อส่งต่อให้เพื่อนๆ เป็นการแบ่งปันความรู้ให้ผู้อื่นต่อไปนะค่ะ

ชีวิตเราดี ชีวิตผู้อื่นดี แค่นี้ก็ได้บุญ :)

ฝากติดตามเป็นกำลังใจ กดไลค์ กดแชร์ ให้แอดมินด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะ :)

______________________

ติดตามอัพเดทข้อมูลข่าวสารทางการเกษตร

และเคล็ดลับดูแลสุขภาพดีๆที่

ช่องทางต่อไปนี้ค่ะ

ฝากกดไลค์ กดติดตาม

Facebook [คลิกที่] >> https://www.facebook.com/raikruyakthailand/

Line@ID [คลิกที่] >> @kruyakorganicfarm (มี @ ด้วยนะคะ)

https://line.me/R/ti/p/%40kruyakorganicfarm

https://line.me/R/ti/p/%40kruyakorganicfarm

https://line.me/R/ti/p/%40kruyakorganicfarm

Kruyak Organic Farm : โทร. 099-2419654 หรือ 088-2444490


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page